วันที่สามของการไปนั่ง “ทวงสัญญาหน้าทำเนียบรัฐบาล” ซึ่งในความเป็นจริงหมายถึงฝั่งตรงข้ามทำเนียบของไครียะห์ ระหมันยะ ดูเหมือนจะมีความเคลื่อนไหวในเชิงตอบรับบ้างแล้ว มีทั้งเจ้าหน้าที่และสส.ไปพบ ในขณะที่การไปนั่งทวงสัญญาก็ได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนทั่วไปด้วย
ในช่วงบ่าย ได้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักนายกรัฐมนตรีไปพบไครียะห์และได้นำหนังสือที่ลงชื่อโดยนายพันธุ์ศักดิ์ เจริญ ปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไปให้ หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาว่ากำลังมีขอทราบความคืบหน้าของการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบจะนะจากศอ.บต. “สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประสานส่งเรื่องให้ ศอ.บต.กรณีที่ท่านขอทราบความคืบหน้าการดำเนินการกรณีดังกล่าว เพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้นำกราบเรียนให้นายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบด้วยแล้ว ”
เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า โครงการที่จะนะนั้น กลไกการทำงานมีคณะกรรมการชุดใหญ่ มีคณะอนุกรรมการอีกสองคณะดำเนินการในรายละเอียด ในขณะนี้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีขอให้ศอ.บต. ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ รายงานความคืบหน้าให้กับคณะกรรมการชุดใหญ่ ขณะนี้ได้ส่งหนังสือไปยังศอ.บต.เรียบร้อยแล้วจึงได้ทำจดหมายแจ้งให้ไครียะห์ได้รับรู้เพื่อให้เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ติดตามเรื่องและมิได้นิ่งนอนใจ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามไครียะห์ว่าพอใจกับคำชี้แจงดังกล่าวของเจ้าหน้าที่หรือไม่ เธอบอกว่า “ไม่แน่ใจเค้าเข้าใจหรือเปล่าว่าหนูมาทำไม” ไครียะห์กล่าวว่า เธอไปนั่งที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามเรื่องของการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันหรือเอ็มโอยู ที่รัฐบาลทำกับชาวบ้านจะนะ ซึ่งผ่านไปหนึ่งปีแล้วแต่ไม่เป็นไปตามเนื้อหา ซึ่งไครียะห์ย้ำว่ามีสามข้อคือ “ หนึ่ง หยุดกระบวนการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมออกไปก่อน สอง ตรวจสอบการทำงานศอบต. ว่ามีบทบาทอะไรกันแน่ สามทำเอสดีเอ คือเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ด้วยการศึกษาว่าจะนะมีศักยภาพแบบไหน ควรพัฒนาจากศักยภาพในพื้นที่ไม่ใช่เอาสิ่งหนึ่งออกเอาอีกอย่างที่ไม่มีอะไรดีเลยมาแทน และกระบวนการทำเอสดีเอนั้นต้องมีกรรมการที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่ายคือมีฝ่ายชาวบ้านรวมอยู่ด้วย” ไครียะห์ยังตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเพิ่งมามีการส่งเอกสารตรวจสอบความคืบหน้ากับศอ.บต. เอาในเวลานี้พร้อมตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็นการถ่วงเวลาหรือไม่
นอกจากนั้นไครียะห์บอกว่ายังมีข้อสงสัยด้วยว่า เหตุใดในพื้นที่ตอนนี้จึงยังมีการผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรม ในขณะที่อีกด้านมีเสียงพูดว่า เอสดีเอก็ทำเสร็จแล้ว “แต่ทำไมชาวบ้านไม่รู้”
นอกจากเจ้าหน้าที่จากสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วยังมีนายณัฎฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลาของพรรคภูมิใจไทยได้นำอาหารฮาลาลไปเยี่ยมไครียะห์ พร้อมกับไต่ถามทุกข์สุข สส.ณัฎฐ์ชนนให้ความเห็นว่า เรื่องการทำโครงการจะนะยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม แต่ในส่วนของการมาร้องเรียนของไครียะห์นั้น ทางรัฐบาลควรจะต้องดูแลอย่างใดอย่างหนึ่ง
“มันเป็นเรื่องของนโยบายที่รัฐบาลกำหนด รัฐบาลต้องไปดูว่าคนที่เป็นต้นคิดเรื่องนี้คือใคร ลงไปที่ ศอ.บต.ใช่ไหม แล้วคนที่กำกับศอ.บต.คือใคร โครงการนี้มันต้องคุยกันอีกหลายประเด็นว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ในวันนี้เราต้องเห็นตัวเอกสารของรัฐบาลว่ามันจะไปแนวไหนกันแน่ ผมคิดว่ารัฐบาลต้องตระหนัก”
นายณัฎฐ์ชนนชี้ว่า ทางกลไกที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรื่องการร้องเรียนนี้ จะปล่อยให้นั่งอยู่เช่นนั้นต่อไปไม่เหมาะ อย่างน้อยที่สุดควรมีเจ้าหน้าที่ติดต่อพูดคุยรับเรื่อง “แค่มารับหนังสือเพื่อไปพิจารณามันไม่ใช่เรื่องยาก ”
ด้านไครียะห์ได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกรายที่ตอบสนองและดูแลเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่าสิ่งที่เป็นคำถามสำหรับเธอเองคือเรื่องความก้าวหน้าของการทำตามเอ็มโอยูที่ทำกันไว้
เอ็มโอยูที่ทำไว้หนึ่งปีที่แล้วมันหายไปไหน จะทำยังไงเมื่อคนของคุณ ไม่ได้ทำตามคำสั่งที่คุณทำร่วมกับชาวบ้าน ชีวิตของชาวบ้านอย่าทำเล่น ๆ ถ้ารับผิดชอบไม่ไหวให้เขารับผิดชอบชีวิตของเขาเอง ถ้าเขาเห็นความสำคัญของชาวบ้าน ถ้าเขาคิดจะรับผิดชอบ ออกมาคุยกัน ออกมาได้แล้ว
นอกจากนั้นการไปนั่งทวงสัญญาหน้าทำเนียบของไครียะห์ยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวกันมากขึ้น มีผู้ติดตามทำสารคดีเรื่องราวของเธอ มีประชาชนทั่วไปเข้าไปให้กำลังใจและซักถามรายละเอียด รวมทั้งนักศึกษาจากสามจังหวัดภาคใต้ที่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกจำนวนหนึ่งก็ไปให้กำลังใจด้วย
ไดรียะห์ ระหมันยะ หรือ”ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ”เด็กสาววัย 19 จากหาดสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อทวง “สัญญา” ในรูปแบบของเอ็มโอยูที่รัฐบาลได้ทำไว้กับชาวบ้านจะนะ ก่อนหน้านี้เธอได้อ่านจม.เปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เธอบอกว่า ที่ต้องไปทวงสัญญาก็เพราะตลอดเวลาหนึ่งปีบริษัทยังเดินหน้าโครงการไม่หยุด
“หนูมาทวงถามคำสัญญาต่อเรื่องนี้กับลุงอีกครั้ง และยังยืนยันคำเดิมว่า “นิคมอุตสาหกรรมไม่ใช่อนาคตของพวกหนู” แต่มันจะทำให้ชีวิตพวกเราล่มสลายในอนาคตอันใกล้นี้มากกว่า เพราะสุดท้ายแล้วพวกหนูก็คือเหยื่อของการพัฒนา ที่ต้องเสียสละบ้าน ทะเล และที่ทำกินให้กับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น”
ตอนท้ายของจม.ไครียะห์ระบุว่า จะรอฟังคำตอบจากลุงตู่ทุกวันตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. เป็นต้นไป และจะนั่งตรงข้ามทำเนียบไปจนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีหรือครม.
สำหรับเอ็มโอยูที่ตัวแทนรัฐบาลทำไว้กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เพื่อเป็นทางออกกรณีปัญหาในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 มีสาระสำคัญสามข้อคือ
1. รัฐบาลจะตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต
2. รัฐบาลจะจัดให้มีการศึกษาในเชิงยุทธศาสตร์หรือ (SEA) แบบมีส่วนร่วมโดยจะต้องออกแบบคณะศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
3. ระหว่างนี้จะยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้เอาไว้ก่อนจนกล่าวกระบวนการในข้อ 1 และ ข้อ 2 จะแล้วเสร็จ
ไครียะห์ยืนยันว่า เธอและชาวบ้านไม่ได้ต้องการจะขัดขวางการพัฒนา แต่ชาวบ้านต้องมีสิทธิที่จะออกแบบชุมชนที่ตัวเองอยู่ได้ เพื่อลูกหลาน เพื่อครอบครัว
ถ้ารัฐบาลยังมีความเห็นใจชาวบ้าน หนูคิดว่า หนูจะได้คำตอบจากนายกฯ