Written by 7:48 am Culture, Featured, Food, Lifestyle, Local History, Patani, Patani Notes

“ซามาอีญา” : น้ำพริกเขียว

ดลยารัตน์ บากา

กว่าเจ็ดสิบปีที่ผ่านมานั้น เจ๊ะ(คุณแม่) ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ขลุกอยู่ในห้องครัว นานจนรอยแยกริ้วย่นที่ปรากฏบนผิวร่างของเจ๊ะ เหมือนกับว่าจะสะท้อนประสบการณ์ที่สะสมมายาวนานก็ได้

เมื่อครั้งยังเด็ก เจ๊ะอาศัยและเติบโตอยู่ในเรือนมลายูริมแม่น้ำปัตตานีพร้อมกับสมาชิกครอบครัวใหญ่อีกสิบกว่าชีวิต แน่นอนว่า เจ๊ะได้รับการถ่ายทอดเมนูอาหารหลากหลายเมนูจากคุณย่าทวด เจ๊ะดูดซับเมนูเอาไว้เป็นจำนวนมากจนยากจะไล่ได้หมด หากจะเอ่ยแค่เมนูน้ำพริกสูตรเฉพาะซึ่งถือเป็นเมนูซิกเนเจอร์ เจ๊ะมักจะนำเสนอเมนู “ซามาอีญา” อยู่เสมอ นี่เป็นเมนูที่ทำให้ญาติๆ และเพื่อนพ้องน้องพี่หลายคนติดใจในรสชาติที่การันตีด้วยรสมือของเจ๊ะมาแล้วจนผู้คนอยากจะกลับมาชิมอยู่เสมอ

สำหรับที่มาของชื่อ “ซามาอีญา” (ซามา=น้ำพริก อีญา=สีเขียว) ก็มาจากสีสันของน้ำพริกที่มีสีเขียวสด เป็นสีที่ได้จากส่วนประกอบหลักของน้ำพริกจาก “ใบหมุย” หรือ ที่เรียกกันในภาษามลายูว่า “ดาวน์สะนือรู” ซึ่งถือเป็นพระเอกตัวชูโรงของเมนูนี้ สำหรับใบหมุยนั้น บางพื้นที่ก็เรียกใบแกง(Curry leaf) ใบกะหรี่บ้าง ใบสำมาหรุยบ้าง ใบหอมแขกบ้าง มีกลิ่นฉุนหอมเฉพาะตัว รสออกซ่าๆ อุดมไปด้วยสรรพคุณมากมายทั้งช่วยบำรุงสมอง แก้ปวดท้อง ช่วยลดคอเรสเตอรอล และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ก่อนที่จะโขลกน้ำพริก ก็ต้องเริ่มจากการหาวัตถุดิบกันก่อน ของบางอย่างหาได้จากรอบรั้วในสวนของบ้าน อย่างเช่น ใบหมุย พริกขี้หนูเขียว และมะม่วงเบา จากนั้นก็ตระเตรียมวัตถุดิบอื่น ๆ อย่างมะพร้าวขูด หอมแดง และกระเทียมให้พร้อม

เสร็จแล้วก็เริ่มโขลกน้ำพริกได้ โดยนำใบหมุยที่เด็ดล้างแล้วไปโขลกรวมกับพริกขี้หนูเขียว และมะพร้าวขูด จากนั้นใส่มะม่วงเบาที่สับพอหยาบ ตามด้วย หอมแดง และกระเทียม โขลกให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันจนเป็นสีเขียวสด ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย จนได้รสชาติจัดจ้านครบทุกรส โดยเน้นรสเผ็ดร้อนจากพริกขี้หนูเขียว และรสเปรี้ยวที่ได้จากมะม่วงเบา ซึ่งเป็นมะม่วงที่มีอยู่ในเฉพาะพื้ี่นถิ่นภาคใต้เท่านั้น ในสมัยก่อนนั้นนิยมกินซามาอีญากับข้าวมันแกง กินเคียงกับผักสด หรือถ้าจะให้อร่อยยิ่งขึ้นก็ต้องกินข้าวคลุกเคล้ากับน้ำพริกด้วยมือ ใช้มือขยำให้เข้ากันแล้วเปิบ ก็จะได้รสชาติที่อร่อยจนไม่รู้ลืม

ในอดีตเมนูนี้เคยเป็นหนึ่งในสำรับเมนูจานเด็ดที่ใช้เลี้ยงรับรองคณะทูตานุทูต 14 ประเทศจากตะวันออกกลาง เมื่อครั้งที่คณะมาศึกษาดูงานโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาที่มอ.ปัตตานี ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นวิทยาลัยอิสลามศึกษามอ.ปัตตานี ในปัจจุบัน

(Visited 397 times, 1 visits today)
Close