Written by 2:03 pm Patani, Patani Notes

ย้อนรอยชุมนุมใหญ่ปัตตานี 2550

บทความพิเศษโดย ซาฮารี เจ๊ะหลง

ปลายเดือนพ.ค. 2550 การเมืองระดับประเทศกำลังร้อนระอุด้วยคดียุบพรรคการเมือง ส่วนในภาคใต้ ประชาชนและนักศึกษาก็กำลังจัดรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้ถอนทหารพร้อมทั้งยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก อันเป็นผลมาจากแรงกดดันจากเหตุการณ์หลายปีก่อนหน้านั้น

ดึกคืนวันที่ 30 พ.ค. 2550 กรรมการบริหารสี่พรรคการเมืองถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี พร้อมทั้งให้ยุบพรรคซึ่งประกอบด้วยพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย โดยที่พรรคประชาธิปัตย์หลุดรอดทุกข้อหา ส่วนที่ปัตตานี สถานการณ์การประท้วงก็คุกกรุ่น เช้าวันที่ 31 พ.ค. มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมในการชุมนุม เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ถอนกำลังทหารพรานออกจากพื้นที่ ให้ยกเลิกเคอร์ฟิวและกฎอัยการศึก (รวมระยะเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 4 มิ.ย.)

กลุ่มนักศึกษาได้รวบรวมกรณีเหตุรุนแรงที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องรวม 21 กรณีเพื่อประกอบข้อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง การชุมนุมหนนั้นถือว่ามีนักศึกษาจากส่วนกลางเข้าร่วมนับร้อย ส่วนใหญ่มาจากเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน และ จำนวนมากเป็นสมาชิกของกลุ่มพีเอ็นวายเอส (PNYS) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในภายหลังว่า นศ.กลุ่มนี้เป็นแกนนำหลักก่อให้เกิดการชุมนุม

ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อการศึกษาและการพัฒนา (LEMPAR) หนึ่งในแกนนำการชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานีเมื่อปี 2550 พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า การชุมนุมหนนั้นเกิดจากความอัดอั้นตันใจของนักศึกษาและประชาชน อันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษมาเป็นระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งจากความรู้สึกสูญเสียจากเหตุรุนแรง จากเหตุการณ์ชุมนุมที่ตากใบ จากการถูกต้องสงสัยและถูกซ้อมทรมาน ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งก็คือนักศึกษา ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมที่มีอยู่ขณะนั้นอาจถือได้ว่า ไม่ต่างไปจากสถานการณ์ในปี 2518 ซึ่งเป็นการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมหลังการสังหารประชาชนแล้วโยนศพทิ้งน้ำที่สะพานกอตอ

กรณีที่ถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กลุ่มนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพตัดสินใจที่จะลงไปทำกิจกรรมที่ปัตตานี ก็คือกรณีที่มีการอ้างจากชาวบ้านว่า ทหารพรานข่มขืนแล้วฆ่าหญิงสาวที่บาซาลาแป อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

ที่จริงการไปมัสยิดกลางปัตตานีในเวลานั้นสำหรับหลายคน ถือเป็นการทำโครงการจัดเสวนา และเป็นการเสวนาในประเด็นที่ล่อแหลมอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในปีนั้น (ปี2550) เพราะมีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่รวมอยู่ด้วย

สุกรี มะสง ประธานกลุ่ม PNYS ในขณะนั้น ยอมรับว่ามีนักศึกษาของกลุ่ม PNYS ลงไปร่วมเคลื่อนไหวอยู่ด้วยจริง แต่เขาระบุว่า การเข้าร่วมนั้นถือว่าเป็นการเข้าร่วมในฐานะส่วนตัว และในนามเครือข่ายนักศึกษาพิทักษ์ประชาชน เพราะกลุ่มพีเอ็นวายเอสเองไม่ได้มีมติให้สมาชิกเข้าร่วมการเคลื่อนไหวดังกล่าวแต่อย่างใด คำอธิบายของสุกรีเป็นเรื่องที่สอดรับกับข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่ไปร่วมชุมนุมไม่ได้อยู่ในโครงสร้างการบริหารของกลุ่มพีเอ็นวายเอส ทั้งนี้เพราะกลุ่มเองต้องการสงวนภาพของกลุ่มไว้สำหรับทำกิจกรรมในเชิงอัตลักษณ์และอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องการเมือง

แต่กระนั้นกลุ่ม PNYS ก็ได้เตรียมรถบัส 2 คันเพื่อนำนักศึกษาไปร่วมงานเสวนาดังกล่าว พวกเขาออกเดินทางจากหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงในเวลาบ่ายของวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ใช้เวลาเดินทางร่วมสิบห้าชั่วโมงจึงถึงที่หมายคือในเวลาเช้าของวันที่ 31 พฤษภาคม 2550

แต่กิจกรรมเสวนาที่ได้เตรียมไว้ต้องถูกยกเลิกไป เพราะวิทยากรที่เชิญไม่กล้าไปร่วมงานเมื่อได้ทราบข่าวว่ามีประชาชนไปกันในจำนวนเกินความคาดหมายและมีความเป็นไปได้ว่างานอาจกลายเป็นการชุมนุม เนื่องจากอารมณ์ของผู้ไปร่วมการสัมมนากำลังร้อน และก็จริงดังว่า หลายคนจากฝ่ายนักศึกษาได้ประชุมและตัดสินใจเปลี่ยนจากการจัดเสวนาเป็นการจัดชุมนุม แทน โดยใช้สถานที่คือมัสยิดกลางจังหวัดที่ได้ขออนุญาตจัดเสวนาไว้นั่นเองมาเป็นสถานที่จัดชุมนุม ประเด็นหลักที่ที่ชุมนุมเรียกร้องก็คือ ขอให้ทางการถอนทหารออกจากพื้นที่และให้ยกเลิกกฎอัยการศึก

ผู้ชุมนุมระบุว่า หนนั้นมีประชาชนและนักศึกษาเข้าร่วมเป็นหมื่น แต่กระนั้น ข้อเรียกร้องในการชุมนุมก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาหลายคนที่เข้าร่วมเห็นว่าอย่างน้อยที่สุดการชุมนุมในหนนั้นประสบความสำเร็จในแง่ที่เป็นการชุมนุมโดยสันติ ไม่เกิดเหตุรุนแรงและประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมในจำนวนหลักหมื่นไม่มีผู้ใดบาดเจ็บเสียชีวิต ที่สำคัญและน่าสนใจด้วยก็คือ แกนนำนักศึกษาที่นำการชุมนุมในหนนั้นไม่ได้ปิดบังใบหน้าแต่อย่างใด นับว่าสวนทางกับสิ่งที่กล่าวกันในเวลาต่อมา และถือเป็นเรื่องความแปลกใหม่สำหรับนักศึกษาที่นำการชุมนุมในเวลานั้น ส่วนที่ปิดหน้าคือประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมที่หวาดกลัวว่าจะมีปัญหาหลังจากที่เลิกการชุมนุมไปแล้ว ทั้งนี้เพราะภาพจำของการเสียชีวิตที่ตากใบซึ่งยังคงวนเวียนอยู่ในความคิดของผู้ที่ไปร่วมชุมนุมนั่นเอง

ขอบคุณภาพประกอบจาก Piyasak Ausap

(Visited 2,234 times, 1 visits today)
Close