มัสยิดกำปงเลาต์หลังเดิมนั้นเชื่อว่าสร้างประมาณปี คศ.1730 (พศ.2273 ช่วงสมัยการครองราชย์ของพระเจ้าท้ายสระของอาณาจักรอยุธยา) โดยมัสยิดที่สร้างครั้งแรกนั้นมีเพียงเสาไม้สี่ต้นรองรับโครงหลังคาซ้อนสามชั้นและมุงหลังคาด้วยใบสาคู ตัวมัสยิดเดิมมีขนาดพื้นที่ 400 ตารางฟุต (ประมาณ 37.16 ตารางเมตร หรือ 6 x 6 เมตร โดยประมาณ) และในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มัสยิดหลังนี้ได้ต่อเติมเป็นมัสยิดที่มีเสาจำนวน 20 ต้นขยายเพื่อรองรับจำนวนคนละหมาดที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้สร้างพาไลและหอคอยเพิ่มเติมจากอาคารเดิมด้วย
ปี 1926 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำท่วมสีแดง (Bah Air Merah)” ในพื้นที่แถบนั้น นำ้ในแม่น้ำกลันตันได้เอ่อท่วมและเกิดการกัดเซาะตลิ่งอย่างรุนแรงทำให้ฐานรากของมัสยิดทรุดตัวลงจากเดิม และประสบอุทกภัยซ้ำอีกครั้งในปี 1966 ซึ่งครั้งนี้ถึงกับทำให้บางส่วนของมัสยิดพังทลายลงจากการทรุดตัวของดิน และเพื่อป้องกันเหตุซ้ำซากที่อาจเกิดขึ้นอีกสมาคมประวัติศาสตร์มาเลเซีย (Persatuan Sejarah Malaysia) จึงเสนอให้ย้ายมัสยิดหลังนี้ไปยังสถานที่ปลอดภัยกว่า จึงได้รื้อจากกำปงเลาต์และนำไปประกอบใหม่ที่กำปงนีลัมปูรี ในปี 1968 และถึงแม้ว่ามัสยิดหลังนี้จะถูกย้ายจากกำปงเลาต์มาอยู่ที่กำปงนีลัมปูรี แต่ก็ยังคงถูกเรียกกันว่ามัสยิดกำปงเลาต์จนถึงปัจจุบัน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของมัสยิดกำปงเลาต์เป็นอาคารไม้ตะเคียนยกพื้นที่มีเรือนหลักรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสหลังคารูปทรงปิรามิดซ้อนประดับยอดด้วย Mahkota เป็นปูนปั้นคล้ายหัวเม็ด(ส่วนยอดของเสาในสถาปัตยกรรมไทย)และต่อระเบียงรอบเรือนหลักโดยใช้หลังคาลาดรอบด้าน วัสดุมุงหลังคาใช้กระเบื้องดินเผา สันหลังคาตรงตะเฆ่สันใช้ปูนเป็นครอบกระเบื้อง ส่วนปลายปั้นปูนเป็นสามแฉกปลายแหลมงอนเรียกว่า Ekor Itik(หางเป็ด) การประกอบเข้าไม้ต่างๆใช้การบากและเจาะ ใช้ลิ่มในการยึดไม้ ผนังใช้ผนังไม้ลูกฟักแบบกลันตัน
สิ่งที่น่าสนใจภายในอาคารมัสยิดหลังนี้คือ มิมบัร(แท่นธรรมมาสน์)ที่แกะสลักลวดลายอย่างสวยงามตามศิลปะมลายูโบราณ และลวดลายแกะสลักประดับบริเวณ “ค้างคาว” หรือหูช้างบริเวณรอยต่อของเสาและคานไม้แกะสลักเป็นลวดลายเก่าแก่ของมลายูซึ่งถูกเรียกในภายหลังว่า “ลายลังกาสุกะ” ซึ่งถูกใช้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งในการอ้างอิงถึงความเก่าแก่ของมัสยิดแห่งนี้นอกเหนือจากทรงหลังคารูปปิรามิดที่เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ใช้ในการสร้างศาสนสถานของมลายูและชวา โดยที่รูปทรงหลังคาแบบเดียวกันนี้เป็นแบบเดียวกับมัสยิดเดอมักบนเกาะชวาซึ่งเป็นมัสยิดเก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในภูมิภาคนี้