Written by 9:33 am Architecture

มัสยิดบ้านดาโต๊ะ ร่วมสมัยกับมัสยิดกรือเซะ ?

มัสยิดโบราณที่บ้านดาโต๊ะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี หลังนี้ผ่านการบูรณะอย่างน้อย 2 ครั้ง(เท่าที่มีข้อมูล) บูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2478 โดยพระยาพิพิธเสนามาตย์(นิโว๊ะ) อดีตผู้ว่าราชการเมืองยะหริ่ง และบูรณะโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2539

มัสยิดดาโต๊ะก่อนบูรณะโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2539


มัสยิดหลังนี้ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อไร โดยผู้ใด แต่มีกระแสข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นมัสยิดที่สร้างร่วมสมัยกับมัสยิดกรือเซะ ซึ่งเชื่อว่าสร้างประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16

ข้อสันนิษฐานที่อ้างว่ามัสยิดดาโต๊ะสร้างร่วมสมัยกับมัสยิดกรือเซะเท่าที่ทราบมี 2 ประเด็นหลักคือ บริเวณใกล้เคียงกับมัสยิดดาโต๊ะมีกุโบร์(สุสาน)โบราณที่นับย้อนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 คือกุโบร์โต๊ะปาแยหรือโต๊ะปันญัง(Tok Panjang) และยังปรากฏหลักหินบนสุสาน(Nisan)แบบบาตูอาเจ๊ะ (Batu Aceh)ในบริเวณกุโบร์ใกล้เคียง ซึ่งในงานศึกษาของสุนิติ จุฑามาศ สำรวจพบว่าเป็นบาตูอาเจะห์แบบที่นิยมใช้ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 -17 ในบริเวณสุสานแห่งนี้พบบาตูอาเจ๊ะห์จำนวน 3 คู่และอีก 3 ชิ้นที่ไม่ครบคู่ และยังมีข้อสันนิษฐานว่ามัสยิดดาโต๊ะแห่งนี้ถูกสร้างโดยพ่อค้ามุสลิมจากอาหรับหรืออินเดียที่เดินทางมายังเมืองปตานีแวะจอดเรือใบเพื่อค้าขายและหลบลมในอ่าวปัตตานีนั้นได้สร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจประจำวัน คือ การละหมาด(Solat)วันละ 5 เวลา

Hikayat Patani งานวรรณกรรมพื้นเมืองปตานีซึ่งบอกเล่าเรื่องราวช่วงอยุธยาตอนกลางจนถึงต้นรัตนโกสินทร์มีการพูดถึงการสร้างมัสยิดสองแห่งคือ มัสยิดในเมืองปตานีใกล้ท้องพระโรงซึ่งอนุมานได้ว่าคือมัสยิดกรือเซะ และพูดถึงการสร้างมัสยิดอีกหลังในปลายยุคเมืองปตานีสมัยสุลตานอลงยูนุส(Alung Yunus คศ.1726-1729)ว่ามีการรื้อเรือนของลักษมณาดาจัง(Laksamana Dajang)มาสร้างเป็นมัสยิดที่บ้านบานา ซึ่งเรือนหลังนี้เป็นเรือนไม้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นมัสยิดที่ดาโต๊ะเพราะมัสยิดดาโต๊ะสร้างโดยการก่ออิฐถือปูน มีความเป็นไปได้ว่าเรือนลักษณาดาจังที่ถูกรื้อนั้นอาจจะมาสร้างมัสยิดบ้านบานาส่วนที่เป็นอาคารส่วนด้านหลังของมัสยิดปัจจุบัน

ไม่เห็นหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าก่อนปตานีพ่ายสงครามให้สยามในปี พศ.2329 หมู่บ้านดาโต๊ะเคยเป็นหมู่บ้านที่มีคนอยู่อาศัยมาก่อนก่อน นอกจากการเป็นกุโบร์(สุสาน) Hikayat Patani เขียนถึงเหตุการณ์สมัยอิสมาอีลชาห์(คริสต์ศตวรรษที่ 16) สั่งประหารเชคกอมบอคเนื่องจากละเมิดคำสั่งห้ามขายทองเหลืองและนำศพไปฝังที่ “ฮูยงตันหยง(ปลายแหลม) ซึ่งน่าจะหมายถึงสุสานโต๊ะปาแยที่บ้านดาโต๊ะนั่นเอง

กุโบร์โต๊ะปันยัง ในอาณาบริเวณเดียวกับกุโบร์ตนกูบือซา

กุโบร์โต๊ะปันยังที่เชื่อว่ามีอายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้น น่าจะอ้างอิงมาจาก Hikayat Patani ที่กล่าวถึงการประหารชีวิตพ่อค้าชาวมินังกาเบาชื่อ เชคกอมบัค (Sheik Gombok)และบริวารชื่ออับดุลมุอฺมินได้ละเมิดคำสั่งห้ามพ่อค้าซื้อขายทองเหลืองของเมืองปตานีในสมัยสุลต่านอิสมาอีล ชาห์(พญาอินทิรา) ซึ่งต้องการรวบรวมทองเหลืองเพื่อสร้างปืนใหญ่ของเมืองปตานี และมีคำสั่งให้นำศพไปฝังที่ปลายแหลม
การนำศพนักโทษประหารคดีนี้ไปฝังที่ปลายแหลมนั้นน่าเชื่อว่าเป็นการฝังที่บริเวณสุสานบ้านดาโต๊ะในปัจจุบัน ในสมัยสุสานประจำเมืองน่าจะอยู่ในฝั่งของเมืองปตานีบริเวณบ้านปาเระ(ตำบลบราโหม) สุสานเก่าแก่ช่วงคริสต์ศตวรรษ 16-17 จำนวนมากจะอยู่ทางฝั่งเมืองมากกว่า เช่นสุสานพญาอินทิรา สุสานรานีฮิเยา-บีรู-อูงู และสมาชิกราชวงศ์อื่น ๆ ซึ่งพอที่จะสังเกตได้จากบาตูนีซัน(Batu Nisan)หรือหินที่ใช้ปักบนสุสานที่ใช้เป็นหลักฐานในการสันนิษฐานบ่งบอกช่วงสมัยได
การฝังศพเชคกอมบอคและอับดุลมุอฺมินที่ปลายแหลมนั้นอาจจะแยกฝังให้ห่างไกลจากชุมชนและไม่ยินยอมให้ฝังร่วมสุสานกับผู้อื่น ซึ่งมีคำศัพท์มลายูว่า “กือจี (Keji)” หมายถึงการตั้งข้อรังเกียจหรือถูกเหยียดหยาม ซึ่งเป็นมาตรการทางสังคมอย่างหนึ่งในสมัยก่อนที่ใช้กับการฝังแยกศพที่เสียชีวิตอย่างผิดปกติหรือผิดธรรมชาติ
การที่สุสานบ้านดาโต๊ะถูกใช้ฝังศพที่ถูกรังเกียจ(Keji)ในช่วงสมัยนั้น(คริสต์ศตวรรษที่ 16) จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะมีการตั้งถิ่นฐานรวมไปถึงสร้างมัสยิดในบริเวณนั้น การตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านดาโต๊ะน่าจะเกิดขึ้นภายหลังกว่านั้นมาก
ส่วนข้อสันนิษฐานที่ว่ามัสยิดดาโต๊ะเกิดจากการที่พ่อค้าชาวอาหรับสร้างมัสยิดเพราะเป็นที่จอดเรือจากการหลบลมและค้าขายกับเมืองปตานีจึงจำเป็นต้องสร้างมัสยิดในบริเวณนั้น ก็มีข้อสงสัยว่า ท่าเรือของเมืองปตานีอยู่บริเวณใด ? โดยปกติแล้วท่าเรือของเมืองสมัยโบราณจะอยู่บริเวณปากน้ำหรือลึกเข้ามาในแม่น้ำมากกว่าที่จะเป็นริมทะเล และมีหมู่บ้านเก่าแก่แห่งหนึ่งริมคลองดีแซไม่ห่างจากบ้านกรือเซะนักชื่อว่า “บ้านกาแลบือซา” แปลว่าบ้านท่าเรือใหญ่

นักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดีว่า บ้านกาแลบือซาเป็นท่าเรือของเมืองปตานี ซึ่งหากท่าเรือเมืองปตานีอยู่ที่บ้านกาแลบือซาแล้ว ก็ไม่สมเหตุผลที่พ่อค้าจะไปจอดเรือและสร้างมัสยิดที่บริเวณบ้านดาโต๊ะ สำหรับผู้เขียนเชื่อว่าเป็นความสับสนที่เอาอายุของกุโบร์(สุสาน)โต๊ะปาแยไปสวมนับเป็นอายุของมัสยิดเสียมากกว่า
เมื่อพิจารณาถึงการตั้งถิ่นฐานของบ้านดาโต๊ะนั้น มีข้อมูลว่าเกิดจากชาวตรังกานู 2-3 ครอบครัวมาตั้งรกรากก่อนและ ชาวบ้านจากบ้านบางปูและบ้านยามูซึ่งอยู่ทางฝั่งเมืองปตานี(กรือเซะ-บานา)ตามมาตั้งรกรากฝั่งปลายแหลมที่บ้านดาโต๊ะไม่เกิน 100 ปีนี่เอง มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นฐานของคนจำนวนมากที่อพยพมาตั้งรกรากแถบนี้ก่อนชาวบ้านดาโต๊ะในปัจจุบันก็คือ การอพยพมาตั้งถิ่นฐานของเติงกูบือซา(สุลต่านมูฮัมหมัด/ตนกูปะสา/พระยาวิชิตภักดีศรีรัตนาเขตประเทศราช เจ้าเมืองปัตตานี) พร้อมวงศ์ญาติและบริวารจากกลันตันในกรณีที่เกิดพิพาทกับเติงกูสนิ(ปากแดง)หรือสุลต่านมูฮำมัดที่ 2 เมืองกลันตัน(ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ) และต่อมาได้อพยพไปสร้างวังที่บ้านจะบังติกอ(ปัตตานี) จนเป็นต้นวงศ์ของเจ้าเมืองปัตตานีในสมัยต่อมา

นอกเหนือจากการวิเคราะห์ที่เขียนข้างต้นแล้ว ประจักษ์หลักฐานซึ่งเป็นตัวสถาปัตยกรรมของมัสยิดดาโต๊ะก็บ่งชี้ว่ามีรูปแบบและเทคนิคการก่อสร้างที่แตกต่างไปจากมัสยิดกรือเซะ ส่วนที่เห็นชัดเจนที่สุดคือซุ้มโค้งเป็นแบบ Rounded Arch มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลมที่แตกต่างไปจากซุ้มโค้งมัสยิดกรือเซะที่เป็น Equilatural arch หรือ Gothic arch เป็นแบบที่มียอดแหลมกึ่งกลางโค้ง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของมัสยิดดาโต๊ะมีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายกับมัสยิดรายอจะบังติกอและมัสยิดรายอสายบุรีมากกว่า ซึ่งมัสยิดรายอจะบังติกอและสายบุรีนั้นมีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างในสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมัสยิดรายอจะบังติกอสร้าง พ.ศ.2388 และมัสยิดรายอสายบุรีสร้าง พ.ศ.2449

ท้ายบทความ : บทความนี้พยายามที่จะเสนอมุมมองและความเป็นไปได้จากคำถามที่ยังไม่มีคำตอบหรือข้อสรุปที่มีน้ำหนัก โดยการวิเคราะห์ผ่านเอกสารและข้อมูลที่มี ผนวกกับพื้นฐานความรู้ที่ผู้เขียนเคยศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม เนื้อหาในบทความจึงไม่อาจเป็นข้อสรุปหรือข้อชี้ชัดได้ เป็นเพียงการเสนอมุมมองและการวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อการถกและต่อยอดการศึกษาต่อไป

(Visited 682 times, 1 visits today)
Close