Written by 1:06 pm Architecture, World

ศิลปะอิสลามคือรักแรกพบ

“เราไม่เคยเห็นอะไรที่มันยิ่งใหญ่ขนาดนี้ มันยิ่งใหญ่โดยที่ไม่ต้องมีรูปปั้น ไม่ต้องมีรูปเขียนเลยเหมือนแนวฝรั่ง แต่มันสุดยอดมากเลยตอนนั้น เราเหมือนเราตกหลุมรักแต่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร”

ชิรีน สาณะเสน

ในมหานครอิสตันบุล ริมทะเลบอสฟอรัส เบื้องหน้าอาคารสถานีรถไฟ Hydarpasa อันโอ่อ่าที่ก่อสร้างขึ้นในปี 1909 สถานีรถไฟแห่งนี้เคยเป็นชุมทางรถไฟจากมหานครอิสตันบุลสู่กรุงแบกแดดประเทศอิรัก แบกรับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะเชื่อมต่ออาณาจักรออตโตมันกับโลกอาหรับและมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง รวมทั้งเป็นประจักษ์พยานของความเสื่อมถอยในวันที่อาณาจักรอันเรืองรองตัดสินใจเนรเทศชาวอาร์เมเนียนผ่านสถานีแห่งนี้

Patani Notes ได้มีโอกาสนั่งคุยกับชิรีน สาณะเสน นักศึกษาปริญญาเอกสาขาศิลปะอิสลามในมหานครอิสตันบุล ชิรีนมีพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯและนับถือศาสนาพุทธ ด้วยเหตุดังนั้นเราจึงจู่โจมชิรีนด้วยคำถามว่าเหตุใดชาวพุทธเช่นเธอจึงสนใจมาศึกษาด้านศิลปะอิสลาม ชิรีนตอบมาทันทีว่าสิ่งที่เธอทำอยู่มันเหมือนกับรักแรกพบ เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อครั้งยังเรียนชั้นมัธยมต้นในวันที่คุณแม่ของชิรีนพาไปเที่ยวชมมัสยิดในเมืองคอร์โดบาประเทศสเปน ชิรีนบอกกับเราว่าแค่เพียงปรายตามองไปยังรายละเอียดของการออกแบบและประดับประดาในมัสยิดหลังนั้นก็รู้สึกเหมือนตกหลุมรักในทันที แม้ว่าตอนนั้นจะไม่เข้าใจว่าศิลปะอิสลามคืออะไรกันแน่

“คุณก็ไปเรียนต่อแล้วก็กลับมาสอนวิชานี้ละกัน”

คำพูดของอาจารย์ที่พูดเล่นกับเธอคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชิรีนคิดที่จะลงลึกเพื่อศึกษาศิลปะอิสลามเกิดขึ้นในสมัยที่ชิรีนเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในตอนที่เธอสมัครเรียนนั้นเธอคาดหวังไว้ว่าน่าจะมีการสอนด้านศิลปะอิสลามอยู่บ้างแต่กลับพบว่าไม่มีใครสนใจในวิชานี้มากพอจนเปิดเป็นชั้นเรียนได้ กระทั่งทางมหาวิทยาลัยเองก็ไม่มีบุคลากรที่สนใจด้านนี้อย่างจริงจังนอกจากนี้ เมื่อครั้งที่เธอได้ลงพื้นที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมัสยิดต้นสนในกรุงเทพ ชิรีนบอกว่าได้พบกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศิลปะอิสลามในไทยเยอะมาก มีร่องรอยมากมายที่สามารถบอกเล่าความเป็นไปของชุมชนแต่กลับไม่ถูกพูดถึงในเชิงวิชาการ ที่มีอยู่เป็นเพียงเรื่องเล่าในเชิงตำนาน ชิรีนบอกกับเราว่ามันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่ามาก และสงสัยทำไมงานของชุมชนคาทอลิกหรือชาวคริสต์ในไทยเองก็มีการเก็บข้อมูลและศึกษาอยู่บ้างแต่กลับไม่มีเรื่องราวจากชุมชนมุสลิมเลย ชิรีนจึงมุ่งมั่นที่จะศึกษาเรื่องศิลปะอิสลามและกลับมาเป็นอาจารย์สอนวิชานี้ด้วยตัวเอง

“เราจำเป็นที่จะต้องไปเรียนในประเทศมุสลิม เพราะว่าเราจะได้เห็นงานจริง ๆ เราจะได้ซึมซับ เราจะได้รับรู้วิถีชีวิตของผู้คน และวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ ว่ามันมีอิทธิพลอะไรต่อความเป็นมุสลิมและศิลปะอย่างไร”ขณะที่รอการตอบรับจากมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาเอกที่ชิรีนส่งใบสมัครไปยังมหาวิทยาลัยในหลายประเทศนั้น ชิรีนเองก็ต้องทำงานเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเมื่อได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยในประเทศตุรกี เธอกล่าวว่าการได้มาศึกษาต่อในประเทศตุรกีเป็นเของขวัญจากพระเจ้าอย่างแท้จริง

การมาเรียนที่ตุรกีนอกจากจะทำให้ได้เรียนรู้ศิลปะอิสลามในประเทศมุสลิมอย่างที่ตั้งใจไว้แล้วนั้น ชิรีนยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คนตุรกีไม่น้อยประกาศตัวเองว่าเป็นออร์โทดอกส์สุนหนี่ที่เคร่งครัด แต่กลับมีผู้หญิงคลุมฮิญาบยืนสูบบุหรี่อยู่ทั่วไป ชิรีนอธิบายว่า นักเรียนจากเมืองไทยหลายคนมาที่ตุรกีแล้วรู้สึกช็อกเพราะนิยามความเคร่งครัดนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

หัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ชิรีนกำลังศึกษาอยู่คือ สถาปัตยกรรมและลายประดับของมัสยิดในประเทศไทย ชีรีนบอกว่างานของเธอนั้นให้น้ำหนักในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ ชีรีนบอกว่าเขตพื้นที่สามจังหวัดนั้นมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตัวเองยาวนาน เป็นศูนย์กลางของมุสลิมในประเทศไทย ส่วนความท้าทายของการเก็บข้อมูลในชุมชนมุสลิมคือเรื่องราวจำนวนไม่น้อยคือประวัติศาสตร์บอกเล่าที่ไม่มีการบันทึกที่เป็นกิจจะลักษณะชิรีนบอกว่าการศึกษาเรื่องศิลปะอิสลามในภาคใต้มีปัจจัยเรื่องการเมืองเข้ามามีส่วนเป็นอย่างมากและต้องสืบย้อนไปถึงสมัยก่อนที่ปัตตานีมาอยู่ภายใต้รัฐไทย ชิรีนยอมรับว่าเคยได้ยินปัญหาเรื่องใช้แดนภาคใต้อยู่บ้าง แต่เพิ่งจะมารู้เหตุผลลึกซึ้งตอนที่ได้มีโอกาสลงมาทำวิทยานิพนธ์ และพบว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีผลต่อรูปแบบการสร้างมัสยิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชิรีนอธิบายว่ารูปแบบของมัสยิดดั้งเดิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่เหมือนกับมัสยิดในภูมิภาคอื่นของไทย มีการสะท้อนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตัวเองผ่านการออกแบบและรายละเอียด มัสยิดส่วนใหญ่จะสร้างด้วยไม้ มีการประดับอักษรเป็นข้อความต่าง ๆ ภายในมัสยิด นอกจากนี้มัสยิดในสามจังหวัดจะมีช่องลมปรากฎอยู่เหนือช่องหน้าต่างเสมอ ชิรีนบอกว่าเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นภูมิภาคที่มีความชื้นสูงต้องการการระบายอากาศจำนวนมาก ศิลปินที่เป็นช่างแกะไม้มักจะใช้โอกาสนี้ออกแบบลวดลายตรงช่องลมกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญและเอกลักษณ์ของมัสยิด ในส่วนของหลังคานั้นชิรีนบอกว่านักวิชาการหลาย ๆ ท่านให้ความเห็นว่ามันเป็นรูปแบบที่ลดทอนจากวิหารของพราหมณ์-ฮินดูพราหมณ์ ในขณะเดียวกันสอดคล้องกับภูมิอากาศด้วย เพราะหลังคาที่ลาดจะช่วยระบายฝน ช่องว่างระหว่างหลังคาแต่ละชั้นจะช่วยระบายอากาศ และหลังคาทรงแบบนี้จะตั้งอยู่บนอาคารผังสี่เหลี่ยมจตุรัส ง่ายต่อการขยายพื้นที่ละหมาดด้วยการเติมเสาไปด้านข้างและขยายปีกหลังคาออก

หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรมอิสลามในพื้นที่คือนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สถานการณการณ์ทางการเมืองในพื้นที่ก็อยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ในช่วงเวลาเดียวกันมัสยิดในรูปแบบอาหรับหรือโมกุลในอินเดียก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายจากการที่ผู้คนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์หรือกระทั่งศึกษาต่อ การก่อสร้างมัสยิดกลางปัตตานีที่มีโดมประกอบอยู่ได้กลายเป็นต้นแบบให้มัสยิดอื่น ๆ ในพื้นที่และมัสยิดในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทยทำตาม.ในยุคปัจจุบันที่กระแสการแสดงออกถึงตัวตนเป็นสิ่งทำได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ชิรีนบอกว่ารูปแบบของสร้างมัสยิดในพื้นที่ก็เปลี่ยนไปพร้อมกับความเป็นไปของสังคมที่ต้องการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติพันธ์ตัวเองไม่ให้สูญหายไป มีการผสมผสานทำให้การออกแบบมัสยิดในหลายๆแห่งมีความร่วมสมัย มัสยิดหลายแห่งนำหลังคาและลายแกะไม้ที่พบตามมัสยิดเก่าแก่อย่างตะโละมาเนาะมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ เป็นการฉีกรูปแบบเพื่อหาหนทางใหม่ ๆ ในการดำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์

งานวิทยานิพนธ์ของชิรีนยังคงต้องใช้เวลาอีกสมควรกว่าจะเสร็จสิ้นและเผยแพร่สู่สาธารณ ชิรีนมีความมั่นใจว่าวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ของเธอเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ด้านศิลปะอิสลามในประเทศไทยที่สำคัญชิ้นหนึ่ง จะช่วยจุดประกายการศึกษาและอนุรักษ์ศิลปะอิสลามในประเทศไทยอันเป็นมรดกทางศิลปกรรมที่สำคัญของประเทศที่หลายคนมองข้าม ทั้งยังหวังอีกด้วยว่าสิ่งที่เธอศึกษาจะสามารถเป็นสะพานเชื่อมร้อยสังคมมุสลิมในพื้นที่กับผู้คนที่อยู่ข้างนอกและโลกของผู้ที่มิได้เป็นมุสลิม เป็นประโยชน์แก่ชุมชนที่เธอลงไปศึกษาในระยะยาว

“เราพบว่ามีนักศึกษาและผู้ใหญ่หลาย ๆ คนอยากเข้ามัสยิดมากเลย อยากเข้ามานานแล้ว สนใจอยากศึกษา แต่ไม่กล้าที่จะเข้าไป เลยคิดว่าเราน่าจะเป็นสะพานที่เชื่อม น่าจะมาทำตรงนี้ได้ มันจะช่วยชุมชนหลายหลายอย่างด้วยทั้งในแง่การท่องเที่ยวและการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องของวัฒนธรรมรากเหง้าของตัวเองอีกด้วย”

(Visited 36 times, 1 visits today)
Close