Written by 5:23 pm Food, Lifestyle

ONYX Cafe อัญมณีสีดำใจกลางเมืองปัตตานี

บนถนนฤาดีอันถือได้ว่าคือหนึ่งในถนนแห่งการค้าขายของเมืองปัตตานีและยังคงมีตึกแถวแนว Shophouse หรืออาคารพาณิชย์ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับชุมชนเก่าแก่ของชาวจีนในแหลมมลายูวางทอดยาวตลอดเส้นถนน ปรากฎโฉมของโมเดิร์นคาเฟ่แห่งล่าสุดที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้วนามว่า ONYX Cafe&Studio สีดำของหน้าร้านอาจดูขัดแย้งกับบ้านหลังอื่นๆที่อยู่เคียงข้างหากแต่โดดเด่นด้วยดีไซน์จนกลายเป็นร้านที่ได้ชื่อว่าเป็นอัญมณีสีดำแห่งใหม่ของเมืองปัตตานีที่วัยรุ่นต่างรู้จัก

Patani Notes พาผู้อ่านมาพูดคุยกับเจ้าของร้านคือ อัลอลิศ หะยีอาแว เพื่อทำความเข้าใจกับแนวคิดและความฝันของการทำร้านกาแฟหนึ่งร้านที่เป็นมากกว่าแค่ร้านกาแฟแต่วาดหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเปลี่ยนโฉมของเมืองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดร้านกาแฟในห้วงที่เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในทิศทางที่สดใสมากนัก

“ผมไม่เคยมีความคิดที่จะเปิดร้านกาแฟเลย เห็นบ้านว่างให้เช่าไม่คิดอะไรมากเลยโทรหาเจ้าของบอกให้ช่วยมาเปิดประตูบ้านหน่อยได้ไหม เมื่อเข้าไปดูข้างในเลยคิดว่าลองเปิดร้านกาแฟดูดีกว่า”

อัลอลิศกล่าวแบบทีเล่นทีจริงเมื่อเราถามถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเปิดร้านกาแฟขึ้นมาพร้อมรอยยิ้มอันเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ประจำตัว อัลอลิศยืนยันกับเราว่าเขาไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนไม่ได้คิดถึง “Passion” แต่ประโยคถัดไปในการอธิบายสิ่งที่เขาทำนั้นกลับไม่ได้ง่ายดายแบบนั้นและผ่านการครุ่นคิดตรึกตรองมาพอสมควร อัลอลิศบอกกับเราว่ามีสิ่งที่อยู่ข้างในผลักดันให้เขาต้องเปิดร้านกาแฟ หนึ่งในเหตุผลที่อัลอลิศอธิบายคือการหมด “Passion” กับอาชีพเดิมที่อัลอลิศทำอยู่หลายปีคือการเป็นครู และที่มากกว่านั้นคือวิสัยทัศน์ที่เขาอธิบายเราว่าตึกแบบนี้บนถนนเส้นนี้มันมีอารมณ์มีกลิ่นอายคล้ายคลึงกับหลายเมืองซึ่งน่าจะมีศักยภาพพอที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่ได้

“การมาเปิดร้านตรงนี้ ถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจของบ้านเรามันดีขึ้น หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวอะไรอย่างนี้ได้ ผมว่ามันน่าจะเวิร์คนะ”

อัลอลิศบอกว่าตึกแบบ Shophouse นั้นมีเสน่ห์มากเพราะมันถูกออกแบบโดยเผื่อทางเดินหน้าตึกเสมอ หากมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ หน้าตึกทำให้มันสะดวกสำหรับการเดินเท้ามากกว่าที่เป็นอยู่มันจะกระตุ้นให้ผู้คนลงมาเดิน มีมิติของความสุนทรีย์ ทำให้คนอยากลงมาชื่นชมบรรยากาศหรือเลือกซื้อของที่ตั้งขายอยู่ในร้าน อัลอลิศบอกว่าภาพที่เขาเห็นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองปีนัง เมืองมะละกาหรือกรุงกัวลาลัมเปอร์ แม้มันจะทำได้ยากเพราะไม่มีแผนพัฒนาเมืองและต้องใช้ความรวมมือกับคนเยอะมาก แต่ภาพที่อัลอลิศเห็นในหัวหากมันทำได้จริงมันจะกระตุ้นบรรยากาศของทั้งย่านให้น่าอยู่มากขึ้นไปอีกโดยเฉพาะบนถนนฤาดี ถนนปัตตานีภิรมย์ หรือ ถนนอาเนาะรู ที่หลายฝ่ายเริ่มจัดกิจกรรมบนถนนเส้นนี้เช่นกลุ่มมลายูลิฟวิ่งที่อลิสเองก็เป็นสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่ง

เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของชื่อร้านรวมทั้งโทนสีของร้าน อัลอลิศบอกว่าด้วยความเป็นคนชอบถ่ายรูปทำให้เห็นว่าการออกแบบร้านโทนสีดำมันทำให้ง่ายต่อการถ่ายรูป นอกจากนั้นแล้วมันยังดูลุ่มลึกชวนค้นหาบรรยากาศของการจัดวางทั้งหมดทำให้รู้สึกอบอุ่น อัลอลิศอธิบายว่าเขาโชคดีที่ได้สถาปนิกจากทีม In_t_af Café & Gallery อย่างอาซีซี ยีเจะแว และ สมโภชน์ เจ๊ะอาลี มาช่วยออกแบบ ทำให้บ้านที่ดูมีเสน่ห์อยู่แล้วยิ่งโดดเด่นขึ้นมา อัลอลิศเล่าอีกว่าสถาปนิกทั้งสองคนใช้เวลาไม่น้อยมานั่งคิดมานั่งสนทนาและดูอุณหภูมิของร้าน

กระทั่งสถาปนิกอย่างอาซีซีเองได้อธิบายให้เราฟังที่หลังว่า “ตอนที่ออกแบบร้านได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่องหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องศิลปินชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ตัดสินใจเดินเข้าป่าเพื่อไปหาแรงบันดาลใจ เขาใช้เวลาในป่านานเพื่อไปคุยกับบรรดาต้นไม้ กิ่งไม้ จนท้ายที่สุดก็ได้งานศิลปะชั้นเลิศชิ้นนึง” อาซีซีพยายามอธิบายสิ่งที่เขาทำกับร้านคาเฟ่แห่งนี้ว่าเขาใช้เวลาไม่น้อยในการเข้าไปนั่งคุย ไปนั่งสังเกตการณ์พื้นที่ใช้สอยในร้าน จนกระทั่งบรรลุถึงไอเดียในการออกแบบร้าน

ในส่วนของชื่อร้านนั้นทั้งอัลอลิศและอาซีซีบอกว่ามีชื่อที่เป็นตัวเลือกอยู่หลายชื่อเช่น Together แต่สุดท้ายลงเอยที่ ONYX ซึ่งสามารถอธิบายตัวตนของร้านได้อย่างชัดเจนที่สุด

“70 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าเป็นนักศึกษา อีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นคนทำงาน หลายคนแต่งตัวมาพร้อมที่จะถ่ายรูป ผมยังคิดอยู่ว่าร้านเรามันน่าถ่ายขนาดนั้นเลยเหรอ”

ร้าน ONYX เป็นที่เลื่องลือในหมู่วัยรุ่นว่าจะต้องแต่งตัวให้ปังเพื่อมาถ่ายรูปในร้าน อัลอลิศอธิบายว่าด้วยความที่เขาเป็นคนเล่นกล้องเลยพยายามจัดมุมต่างๆของร้านสามารถถ่ายรูปได้ ดีไซน์ของร้านก็ทำให้ถ่ายรูปง่ายและตอบโจทย์กับสภาพสังคมสมัยนี้ที่ผู้คนเน้นการเสพประสบการณ์และถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย

เมื่อถามถึงรายได้ของร้านอัลอลิศยอมรับว่าเขาก็ต้องหากลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้าเพลิดเพลินกับอาหารเช่นเบอร์เกอร์โฮมเมดที่เขาคิดสูตรเองหรืออาหารประเภทอื่นๆเพราะรายได้จากกาแฟอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอกับการดูแลร้าน

นอกจากนี้แล้วอัลอลิศก็ยอมรับว่าต้องพยายามหากิจกรรมเข้ามาในร้านอีกในอนาคตเพราะเป็นที่รู้กันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันรวมทั้งการแข่งขันในพื้นที่อาจทำให้ร้านกาแฟร้านหนึ่งสามารถเงียบเหงาได้หากไม่มีกิจกรรมเชื้อเชิญให้คนเข้าร้าน

“ในอนาคตอาจเปิดให้คนข้างนอกเข้ามาจัด Workshop ที่ร้าน มาพูดคุยเกี่ยวกับด้านการถ่ายภาพหรือไม่ก็ด้านอาหารเพราะบ้านเราแทบจะไม่มีใครทำกิจกรรมอะไรแบบนี้เลย”

แม้อัลอลิศจะไม่ได้เคยอยู่อาศัยบนถนนแห่งนี้มาก่อนแต่อีกสิ่งหนึ่งที่อัลอลิศค้นพบคือ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อบ้านที่เป็นอาม่าเชื้อสายจีนกับเจ้าของร้านขายหนังสือเชื้อสายปาทานเป็นเหมือนต้นทุนสำคัญของเมืองและบ่งบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่ในเมืองแห่งนี้ช่างงดงามยิ่งนัก

“ตอนสร้างร้านอาม่าข้างร้านถามผมมาตลอดเลย เมื่อไหร่จะเสร็จ เมื่อไหร่จะเสร็จ คือแกเป็นห่วงเราตลอด มีอะไรขาดตกบกพร่องมีอะไรขาดเหลือแกก็ช่วยเราตลอด แกขอแค่อย่างเดียวว่าข้างหลังเนี่ยอย่าตัดต้นไม้นะ บังมุนีฟร้านข้างๆแกก็ถามเหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ มีอะไรตรงไหนอะไรยังไงบอกได้ เหมือนอย่างที่ฝั่งนี้ก็เป็นที่ของแกผมก็เช่าแกเพิ่ม แกบอกว่าไว้มีรายได้เมื่อไหร่ก็ค่อยจ่ายแล้วกัน ก็โอเค”

“อาม่าเคยอยู่กำปงมุสลิมมาก่อน แกรู้ลักษณะนิสัยมุสลิมดี แกชอบพูดบ่อยๆ ว่าอลิศเนี่ยยิ้มบ่อยนะอาม่าชอบ พนักงานในร้านผมมาถึงร้านก็ไปนั่งคุยกับอาม่าก่อนทุกเช้า อาม่าให้ทั้งคำแนะนำทั้งคำปรึกษามีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ผมรู้สึกอัลฮัมดุลิลละฮ์มากเลยเพราะได้เพื่อนบ้านที่ดี”

เครดิตรูปภาพจากร้าน ONYX Cafe & Studio 

(Visited 624 times, 1 visits today)
Close