Written by 6:39 pm Patani Notes

ขอฝันเดินตามรอยเท้า “เชค อะหมัด อัลฟาตอนี”

ในร้านกาแฟอันพลุกพล่านของย่าน Kadikoy ซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งเอเชียของมหานครอิสตันบุล ประเทศตุรกี เมืองแห่งนี้คือประจักษ์พยานแห่งความรุ่งโรจน์ ตกต่ำ และความพยายามในการฟื้นกลับมา แต่เหนืออื่นใดเมืองแห่งนี้มีร่องรอยสำคัญของประวัติศาสตร์โลกที่มีอายุนับพันปี Patani Notes มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ฟาเดล เจ๊ะแห หนุ่มร่างบางผู้มาจากหมู่บ้านตามุง อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เดินทางมาแสวงหาความรู้ ทดลองชีวิต และไล่ตามหาความฝันกว่าหนึ่งหมื่นกิโลเมตรไกลจากบ้านเกิด

ฟาเดลที่ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่สาม สาขาอิสลามศึกษา ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงอิสตันบุล บอกกับเราว่ามีโอกาสมาเรียนตุรกีตอนกำลังจะขึ้นชั้นม.6 เพราะได้ทุนจากองค์กรแห่งหนึ่ง ฟาเดลยอมรับว่าตอนนั้นช่วงนั้นคือช่วงที่ยังไม่มีใครรู้จักตุรกีมากนักแม้แต่ตัวของเขาเอง“ตอนนั้นผมไม่รู้จักตุรกี อะไรคือตุรกี ก็มารู้จักที่นี่ มีคนพูดถึงตุรกีอยู่บ้างเพราะเอร์โดกาน ซึ่งเป็นผู้นำของตุรกีไปวิพากษ์ผู้นำของอิสราเอลในงาน WorldEconomic Forum ปี 2009”

นอกจากต้องมาทำความรู้จักกับภาษาและสังคมใหม่เพื่อให้อยู่รอดในการเรียนและใช้ชีวิตแล้ว ฟาเดลยังบอกอีกว่าตอนเขามาถึงตุรกีเมื่อปี 2011 นั้น เขาต้องเรียนซ้ำชั้นเพราะระบบการศึกษาของตุรกีแบ่งชั้นเรียนต่างไปจากบ้านเรา โดยแบ่งเป็น 12 เกรดนั้บตั้งแต่ชั้นประถมขึ้นมา ฟาเดลต้องมาลงเรียนในเกรด 9 ทำให้ต้องเรียนอีกสี่ปีเพื่อให้จบชั้นมัธยม “หลังจากเรียนมัธยมที่ไทยห้าปีมาบวกที่นี่อีกสี่ปีรวมเป็นเก้าปี (หัวเราะ) ยาวเลย ตามรุ่นเดียวกันไม่ทัน”

แม้ตุรกีจะเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ความแตกต่างในทางวัตรปฏิบัติ สำนักคิดทางศาสนาแบบฮานาฟีที่ต่างกับภูมิภาคอุษาคเนย์ และอนุญาตให้เลี้ยงสุนัขได้ ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ฟาเดลต้องปรับตัว “คนตุรกีก็ละหมาดปกติ แต่ก็มีบางช่วง เห็นว่าเกินไปเหมือนกัน เช่นเดือนรอมฎอนร้านอาหารก็เปิดเป็นปกติ มีมุสลิมที่นั่งกิน สูบบุหรี่ ช่วงละหมาดวันศุกร์ก็มีคนเดินเต็มถนน อยู่ที่นี่ต้องมีศรัทธาที่เข้มแข็ง คือเรามาจากปอเนาะ จึงมีพื้นฐานทางศาสนาที่เข้มแข็ง”

ฟาเดลยอมรับว่าเรื่องศรัทธาในทางศาสนาดูเหมือนจะเป็นเรื่องปัจเจกสำหรับคนตุรกี ขณะเดียวกันการใส่ฮิญาบในโรงเรียนหรือสถานที่ราชการก็เคยเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนมากเช่นนี้ จนในยุคที่ตุรกีมีผู้นำชื่อ เอร์โดกาน ซึ่งทำให้การสวมใส่ฮิญาบเป็นสิ่งที่ทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย

“คนที่นี่ยอมตายเพื่อความเป็นธรรม พวกเขายึดหลักว่า ให้พูดความจริงต่อหน้าผู้หน้าผู้นำที่อธรรม”

นอกจากการเปลี่ยนแปลงในด้านศาสนาแล้ว ฟาเดลยังได้มีโอกาสร่วมสังเกตุการณ์สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของตุรกี เมื่อมีความพยายามจากนายทหารและผู้คนหลายระดับก่อการรัฐประหารในปี 2016เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ฟาเดลมองเห็นความรักชาติ รักประชาธิปไตยและยอมตายเพื่อความเป็นธรรมของคนตุรกี

“ผมมองเห็นช่วงรัฐประหารเป็นช่วงที่เขาต่อสู้ ผมเห็นการรักชาติ บางคนยอมเสียชีวิต บางคนไปนอนอยู่หน้ารถถัง ยอมให้เค้าเหยียบ บางคนไปสู้กับทหารด้วยมือเปล่า เขายอมแลกชีวิตรักษาความยุติธรรม”ฟาเดลบอกเล่าคำให้การของเพื่อนชาวตุรกีว่า พวกเขาผ่านการรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง การรัฐประหารทำให้เศรษฐกิจพัง ระบบคมนาคมพัง ระบบสาธารณสุขก็ย่ำแย่ ผู้คนจำนวนจึงลุกขึ้นมาต่อต้านจนรัฐประหารครั้งนั้นล้มเหลวในท้ายที่สุด

การมาเรียนหนังสือในเมืองที่เป็นหมุดหมายท่องเที่ยวระดับโลกแบบอิสตันบุล ทำให้ฟาเดลมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งฟาเดลยอมรับว่ามันเริ่มต้นด้วยความบังเอิญและด้วยเงินเพียง 4,000 บาท

“ผมเป็นคนที่ชอบเที่ยวอยู่แล้ว แต่อยู่มาวันหนึ่งมีรุ่นพี่คนหนึ่งเขาส่งกรุ๊ปทัวร์กรุ๊ปหนึ่งมาให้ช่วยดูแล ตอนแรกๆเราก็พาเที่ยวด้วยใจไม่ได้คิดเรื่องผลประโยชน์ จนลูกทัวร์ถามว่า“คิดหัวเท่าไหร่” เราก็ไม่เข้าใจ แต่พี่คนนั้นเขาเคยเป็นไกด์มาแล้วเค้าเลยสอน การคิดค่าหัว สอนการทำทัวร์” และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฟาเดลเห็นช่องทางธุรกิจ โดยเริ่มจากการกำเงิน 4,000บาทเพื่อลองทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง ทุกวันนี้ฟาเดลให้บริการนำเที่ยวด้วยตัวเองพร้อมทีมงานอีก5-6 คน มีรายได้ในแต่ละเดือนอยู่พอสมควร อีกทั้งการจัดทัวร์ของฟาเดลก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะอิสตันบุล ธุรกิจที่เติบโตขึ้นของฟาเดลทำให้เขาสามารถสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในหัวเมืองอื่นๆของตุรกีด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ฟาเดลบอกว่าเงินไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เขาจับธุรกิจนำเที่ยว แต่เพราะเขาอยากสร้างคอนเน็คชั่นทางธุรกิจ เพื่อที่เขาจะสามารถต่อยอดมันได้ในอนาคต ฟาเดลบอกกับเราว่าเขามี เชค อะห์หมัด อัลฟาตอนี ผู้นำศาสนาจากปัตตานีผู้ไปเติบโตและรับใช้ศาสนาในอาณาจักรออตโตมันในอดีตเป็นเสมือนไอดอลในการใช้ชีวิต

“ถ้าย้อนไปในสมัยออตโตมัน เชค อะห์หมัด เป็นคนตรวจหนังสือ เป็นคนเขียนราชกิจจา ในสมัยนั้นหนังสือของมุสลิมในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ เป็นผลงานของ เชคอะหหมัด จะเห็นได้ว่าผู้นำศาสนาในสมัยนั้นเค้าสร้างคอนเน็คชั่นกับตุรกีแล้ว ซึ่งช่วยเหลือบ้านเราเยอะมาก ผมก็อยากช่วย แต่ถ้าเรากลับบ้านไปเราก็มีแค่ความรู้ ผมไม่อยากแค่ถ่ายทอดความรู้ผมอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับสังคม ก็เลยลองทำธุรกิจดีกว่า ผมอยากสร้างที่รองรับคน”

ไม่เพียงแต่เส้นทางธุรกิจเท่านั้นที่สายตาฟาเดลเฝ้ามอง แต่การทำงานองค์กรการกุศลในตุรกี ก็เป็นโมเดลที่ทำให้ฟาเดลบอกเล่าด้วยสายตาที่เป็นประกาย ฟาเดลบอกว่าพวกเขาทำงานกันเป็นเครือข่าย และวางระบบทางการเงินที่ดี

“ผมมองว่าตอนนี้ คนที่มีอำนาจ ที่ไม่ใช่คนที่มีอาวุธนะ แต่ คนที่มีความรู้และมีเงิน ผมไปเยี่ยมองค์กรสาธารณกุศลของตุรกีมาองค์กรหนึ่ง มีรายได้เป็นหลักพันล้าน องค์กรเขาออกไปช่วยคนทั่วโลกเลย แล้วเขาเอาเงินมาจากไหน เขาวางระบบทางธุรกิจไว้ดีมาก พวกเขาเข้าไปดีลกับองค์กรธุรกิจ ชวนกันทำธุรกิจแล้วเอาผู้บริหารมืออาชีพมาดูแลการเงิน ซึ่งทำให้องค์กรทางสังคมของพวกเขาเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังมีระบบซากาตที่ดีมาก”

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวของฟาเดลจะอยู่ที่ตุรกี แต่จิตใจของเขาก็ยังเฝ้าห่วงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกรณีเจ้าหน้าที่ยิงชาวบ้านเสียชีวิตสามศพเพราะสำคัญผิดคิดว่าเป็นผู้ร้ายที่บ้านอาแน

“ผมก็ดูข่าวเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรม แล้วก็ข่าวที่อาแน อยู่ที่นี่เราทำอะไรไม่ได้ต้องดุอาอย่างเดียว มีระบายในเฟสบุ๊คบ้าง ผมมองว่าภาครัฐ ถ้าทำผิดก็ขอโทษไม่ต้องไปแก้ตัวอะไรเยอะ ยอมรับและก็ขอโทษ ถ้ายิ่งแก้ตัวก็จะยิ่งไปกันใหญ่ คนก็ทำผิดพลาดได้เป็นเรื่องปกติ ชาวบ้านก็ยอมให้อภัยอยู่แล้ว แค่เรายอมรับตรงๆว่าเราทำผิดผมว่าสิ่งสำคัญคือความยุติธรรม การที่จะปกครอง มันไม่ใช่ปกครองด้วยเงินแต่มันคือความยุติธรรม”

(Visited 171 times, 1 visits today)
Close