Written by 6:07 pm Food, Staff's Picks

รู้จักกับ Butcher แห่งบูเก๊ะจือฆาและวิสาหกิจชุมชนของพวกเขา

Patani Notes ยกทีมเดินทางไปยังคอกวัวกลางทุ่งนาในหมู่บ้านบูเก๊ะจือฆา อันเป็นส่วนหนึ่งของท้องทุ่งวังพญา ในอำเภอรามัน จังหวัดยะลาเพื่อสนทนากับอับดุลเลาะ บากา โปรแกรมเมอร์และอาจารย์สอนหนังสือโดยอาชีพผู้ใช้เวลาว่างเปิดฟาร์มวัวและเป็น Butcher หรือคนแล่เนื้อขายในนามของชบาบีฟ อับดุลเลาะมั่นใจมากว่าเนื้อของเขาเป็นเนื้อออร์แกนิคแท้ๆและปลอดสารเร่งเนื้อแดง ที่สำคัญเป็นเจ้าแรกในสามจังหวัดที่ยกเขียงเนื้อมาไว้บนตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง

“คนบ้านเรากินแพะกินวัวเยอะ แต่ทำไมเราไม่เลี้ยงวัวเราไม่เลี้ยงแพะ ทำไมต้องไปซื้อจากเพชรบุรีจากราชบุรี แพะบ้านเราพูดได้เลย 90% มาจากเพชรบุรี”

ธุรกิจของเขาเริ่มจากความสงสัยและความไฝ่รู้ซึ่งผลักดันให้เขาต่อยอดเดินหน้าในสิ่งที่เขาชอบคือการกินเนื้อ อับดุลเลาะบอกว่าตอนเรียนหนังสือเขาได้อ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องความมั่นคงทางอาหารซึ่งทำให้เขาฉุกคิดและนำไปถกกับเพื่อนที่เรียนเศรษฐศาสตร์การเกษตรอยู่บ่อยๆ บทสนทนาดำเนินมาถึงจุดที่ว่าถึงเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าแค่ไหนก็ต้องกินต้องใช้  แต่จุดที่ทำให้เขาเริ่มจริงๆเกิดจากการมีคนเลี้ยงวัวแบบปล่อยใกล้สวนของที่บ้านแล้วเข้ามากินใบของพันธ์ไม้ที่ปลูก อับดุลเลาะบอกว่ามันทำให้เขารู้สึก “เจ็บใจ” เพราะเขาคิดว่านอกจากการเลี้ยงแบบปล่อยจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้วยังไม่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจด้วย

“ผมคิดว่ามันทำได้นะ เลี้ยงวัวแล้วสร้างมูลเพิ่มที่ได้กำไรเยอะมากกว่าเลี้ยงแบบปล่อย ผมคิดว่าพื้นที่หนึ่งไร่สามารถเลี้ยงวัวได้ 25 ตัว แต่ถ้าเลี้ยงแบบปล่อย คุณมี 25 ตัวคุณจะต้องมีที่ดิน 25 ไร่นะ วันนี้ไปปักตรงโน้นพรุ่งนี้ไปปักตรงนั้น”

แต่การเลี้ยงวัวอย่างเป็นระบบมันมีเรื่องที่ต้องจัดการเช่น ระบบคอกวัว อาหาร โดยวัวที่อับดุลเลาะเอามาเลี้ยงนั้นเป็นพันธ์ชาโรเลส์และแบล็คแองกัส เมื่อขุนวัวจนได้ที่ก็จะมีเถ้าแก่มารับซื้อต่อ จนเมื่อการระบาดของโคโรน่าไวรัสเดินทางมาถึงพื้นที่ อับดุลเลาะและวิสาหกิจชุมชนที่เขาทำกับชาวบ้านในหมู่บ้านก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับผู้ประกอบการด้านต่างๆในพื้นที่คือการค้าขายในรูปแบบเดิมๆไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

“พอช่วงโควิด เรามีวัวค้างอยู่ที่คอกแต่ทางร้านอาหารปิดหมด ไม่มีคนรับซื้อ ถ้าเลี้ยงต่อเราจะขาดทุนเพราะมันต้องกินทุกวัน แบกวัวชาวบ้าน 40 ถึง 50 ตัวมันก็จะสองล้านบาท เอาไงดี ก็เลยแบบว่าลองดูสักตั้ง เพราะจริงๆแล้วผมสนใจเรื่องของการ Butcher หรือแล่เนื้ออยู่แล้ว ไม่ใช่แล่เนื้อบ้านๆ แต่เป็นการแล่เนื้อให้เป็นก้อนๆ เป็นชิ้นส่วน ซึ่งบ้านเราผมว่าหาคนทำยากยังไงมันก็ต้องลอง ล้มวัวหนึ่งตัวแรก ตัดผิดตัดถูก ตัวที่สองก็เริ่มเป็นก้อน หมดวัวไปสองสามตัวกับการทดลองราคารวมกันก็เกือบแสนบาท”

อับดุลเลาะบอกว่าเนื้อที่เขาทดลองแล่นั้นจะนำไปแจกให้เพื่อนๆได้ลองกินบ้างแต่ในส่วนที่เขาวางแผนไว้ทดลองตลาดนั้นจะถูกตั้งขายที่ราคากิโลกรัมละ 300 บาท แม้จะแพงกว่าเจ้าอื่นแต่มันคือการทดลองความเป็นไปได้ของตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกออนไลน์ ซึ่งปรากฏว่ามีคนให้ความสนใจอยู่พอสมควร แต่สิ่งที่ยากกว่าการทดลองตลาดนั้นคือเทคนิคการแล่เนื้อ แม้เขาและเพื่อนจะเป็นช่ำชองการแล่เนื้อแบบทำแกงเนื้อ ทำงานบุญ แต่การแล่เพื่อเอาไปทำเป็นเมนูชาบู ทำปิ้งย่างนั้นกลับใช้เทคนิคที่แตกต่างกันออกไป

“พวกเราเรียนรู้จาก YouTube ตัวแรกที่เราทดลองใช้เวลาตั้งแต่8 โมงเช้าจนถึงเวลามัฆริบ (ประมาณ 18.30 น.) เปิด YouTube ไป แล่ไป ทำไปเรื่อยๆ พอตัวที่ 2 ตัวที่ 3 เริ่มจับทางถูก จนเข้าใจว่าวัวขุนมันมีร่องของมัน มีผนังของมันอยู่”   

จากงานทดลองเพื่อหาทางออก ถึงตอนนี้อับดุลเลาะบอกว่าพวกเขาล้มวัวไปแล้วมากกว่า 20 ตัว ในระยะเวลาราวสองเดือน สร้างทางเลือกด้านรายได้ที่น่าสนใจแก่สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนที่เขาและคนในหมู่บ้านเดียวกันเป็นสมาชิก

รูปแบบธุรกิจของอับดุลเลาะนั้นคือวิสาหกิจชุมชนที่รวมกลุ่มบรรดาผู้เลี้ยงวัวในชุมชนของเขามาจับมือลงหุ้นทำงานด้วยกัน และนั่นทำให้อับดุลเลาะบอกว่าหนึ่งในหัวใจสำคัญในการทำงานคือต้องมีความชัดเจนในการจัดสรรผลประโยชน์ด้านต่างๆให้ลงตัว “สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือต้องคุยเรื่องผลประโยชน์ให้ชัดเจนที่สุดก่อน ใครลงทุนเท่าไหร่จะได้เท่านั้น สิ่งที่ผมทำคือการจัดการที่ทำให้เขาได้ประโยชน์”

แต่การเป็นคนเรียนหนังสือมาตลอดและเมื่อเขาชวนชาวบ้านมาทำฟาร์มวัว มันไม่ได้เป็นหลักประกันว่าสมาชิกในชุมชนจะเชื่อมั่นในฝีมือเขา โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นเพราะเขาไม่เคยอยู่บ้านไม่รู้จักใคร แต่ร้านน้ำชาในชุมชนคือจุดที่ทำให้ช่องว่างระหว่างอับดุลเลาะกับชาวบ้านหดแคบลงและที่สำคัญจุดเริ่มต้นวิสหากิจชุมชนของเขาก็เริ่มจากร้านน้ำชา

“ตอนประชุมกันเพื่อตั้งกลุ่มผมไปเริ่มประชุมที่มัสยิด ตั้งโต๊ะวงกลมแล้วกลายเป็นว่าผมพูดอยู่คนเดียว ประชุม 2-3 ชั่วโมงก็ผมพูดอยู่คนเดียวนั่นแหละ ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นเลย ผมก็นั่งคิดว่าผมจะทำยังไงดีก็เลยเปลี่ยนรูปแบบมาประชุมที่ร้านน้ำชา ไม่ต้องเป็นทางการอะไรมาก สั่งน้ำชาแล้วเปิดวงประชุม ทีนี้คุยกันเยอะเลย ประชุมกันได้ทุกวัน กลายเป็นสภากาแฟคุยกันเรื่องวัวที่ร้านน้ำชา” 

ข้อสังเกตสำคัญขณะที่เราพูดคุยกับอับดุลเลาะคือหมู่บ้านแห่งนี้มีการตั้งกลุ่มเลี้ยงวัวกันโดยปกติอยู่แล้ว และที่สำคัญชุมชนแห่งนี้มีประสบการณ์การบริหารกองทุนหมู่บ้านที่อับดุลเลาะบอกว่ากองทุนหมู่บ้านที่เริ่มขึ้นสมัยทักษิณ ชินวัตรยังคงดำเนินการอยู่จนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็คุ้นเคยกับการมีเจ้าหน้าที่ด้านปศุสัตว์มาให้ความรู้ รวมทั้งโอกาสต่างๆที่มาจากโครงการที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จนถึงตอนนี้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากชบาบีฟนั้นประกอบไปด้วย เนื้อสไลด์ เนื้อสเต็กทีโบน เนื้อสัน เนื้อลูกเต๋า เนื้อบด เป็นต้น รวมทั้งเครื่องใน อับดุลเลาะเริ่มต้นการขายเนื้อที่ชำแหละแล้วบนตลาดออนไลน์ และบรรดาแม่ค้าในโลกออนไลน์ที่ซื้อเนื้อจากเขาคือกลุ่มลูกค้าที่สำคัญมากสำหรับอับดุลเลาะ แม่ค้าเหล่านี้คือคนที่มีอาชีพเป็นครูเป็นพยาบาลซึ่งขายของในโลกออนไลน์เป็นอาชีพเสริม และที่สำคัญแม่ค้าเหล่านี้คือคนที่แนะนำอับดุลเลาะในเรื่องการจัดแพ็คเกจและการตั้งราคาขาย

“แม่ค้าออนไลน์จ่ายสด ก่อนที่ผมจะส่งเนื้อให้เค้าด้วยซ้ำ เค้าออเดอร์เสร็จแล้วก็จ่ายเงินเลยนะ ผมก็เลยเน้นแม่ค้าออนไลน์ ผมก็เชิญแม่ค้าออนไลน์สองสามคนมาคุยกันว่าจะกำหนดราคายังไงดีเพราะเค้ามีเครือข่ายของเขาที่เป็นตัวแทน ตอนแรกผมวางช่องว่างของราคาขายส่งกับขายปลีกไว้นิดเดียว พวกเขาบอกไม่ได้เพราะทำอย่างนี้พวกเขาจะไปขายต่อไม่ได้ และที่สำคัญแม่ค้าออนไลน์เค้าจะโปรโมทด้วยการรีวิวการทำชาบูกินด้วยตัวเอง”

ก่อนที่จะลากันไปเพราะมีผู้คนที่ให้ความสนใจเรียนรู้การทำฟาร์มจากอับดุลเลาะซึ่งกำลังรอคิวเพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่อับดุลเลาะทำ เราถามอับดุลเลาะถึงแผนการของเขาต่อจากนี้ เพราะข้อจำกัดที่เนื้อจากภูมิภาคอื่นๆจะเดินทางมาถึงสามจังหวัดค่อยๆคลายลงไป

“เตรียมใจ ผมว่าแน่นอนมันลดลง ส่วนหนึ่งที่ขายได้ดีตอนนี้มีอยู่สองถึงสามปัจจัยคือโควิดที่ทำให้เนื้อข้างบนลงมาไม่ได้ทำให้ทุกคนต้องลองเนื้อเรา เนื้อราคานี้ทำจากที่นี่หาไม่ได้แล้ว ด้วยคุณภาพปลอดสารเร่งเนื้อแดง ผมบอกได้เลยนะว่าเนื้อในตลาดส่วนใหญ่มีสารเร่งเนื้อแดงหมดเลย”

“คอนเซปต์ของผมหลังจากนี้ ผมพยายามทำให้เนื้อที่ดีๆที่หากินกันยากๆสามารถหากินได้ง่ายๆ สามารถเก็บไว้ในตู้แช่อยากกินตอนไหนก็หยิบมาใช้ได้เลย อีกอย่างหนึ่งคือผมพยายามต่อยอดว่าเอาเนื้อของเราไปทำเป็นอะไรได้บ้างเช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น เบอร์เกอร์ ตอนนี้เองผมก็กำลังมองหาเชฟที่จะเอาเนื้อของผมไปทำเมนูใหม่ๆเช่นแกงกะหรี่ญี่ปุ่น”

อับดุลเลาะเชื่อมั่นในคุณภาพของเนื้อที่เขาเลี้ยงเองชำแหละเองมากับมือถึงขนาดบอกกับเราว่า

“วัวทั้งตัวเนื้อสะโพกจะเยอะที่สุดและเป็นส่วนที่แข็งที่สุด แต่ถ้าได้ชิมสะโพกของเรารับรองว่าลืมเนื้อสะโพกทั่วไปได้เลย”

(Visited 1,746 times, 1 visits today)
Close