Written by 7:52 pm Activities, Patani

ศูนย์ให้คำปรึกษาผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย

ที่แรกของประเทศไทย ศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี
ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี (Women’s Empowerment and Counselling Center) ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังวัดนราธิวาส ตั้งขึ้นในปี 2561 เปิดให้คำปรึกษากรณีผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ให้ความรู้เรื่องกฎหมายไทยและอิสลามเบื้องต้น ที่ทำงานร่วมกับฝ่ายไกล่เกลี่ยของคณะกรรมการอิสลาม ซึ่งที่นี่มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครผู้หญิง

เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก ยิ่งกรณีถูกทำร้ายร่างกายจากสามีหรือคู่ครอง เกิดปัญหาคามรุนแรงในครอบครัว ได้รับความไม่เป็นธรรม ยิ่งเป็นผู้หญิงมุสลิมที่ต้องคำนึงถึงกรอบของศาสนาและกฎหมายอิสลาม การขอคำปรึกษาเยียวยาที่ผู้หญิงสามารถมั่นใจในคุณภาพของการให้บริการและจรรยาบรรณของการรักษาความลับ คนที่พวกเธอสามารถพูดคุยเรื่องที่ซ่อนเร้นได้จะเป็นใคร เพราะ “บาบอ” ทั้งหลายที่อยู่ในฝ่ายไกล่เกลี่ยของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้งหมดล้วนเป็นผู้ชาย

น.ส.รุสลีนา สาเล็ง เป็นอาสาสมัครประจำศูนย์ เธอจะอยู่ที่นี่ทุกวัน และในวันทำการตั้งแต่วันอาทิตย์จนถึงวันพฤหัสบดีจะมีอาสาสมัครผู้หญิงหมุนเวียนมาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาที่ศูนย์แห่งนี้ ซึ่งเป็นคณะทำงานที่มาจากเครือขายในพื้นที่ คือสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้และชมรมผู้นำมุสลิมะห์จังหวัดนราธิวาส


น.ส.วันอาอีดา พัฒนปรีชาพงศ์ มาเป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษาทุกวันพุธ เธอเล่าว่าตั้งแต่เปิดศูนย์มามีกรณีมาขอคำปรึกษาแล้วมากกว่า 400 เคส ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรณีถูกสามีหรือคู่ครองทำร้ายร่างกาย ซึ่งในการทำงานเธอจะเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีแบบฟอร์มการจดบันทึกอย่างละเอียด เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงที่มาขอคำปรึกษาไม่สะดวกที่จะคุยกับผู้ชาย เช่น กรณีที่ร่องรอยการถูกทำร้ายร่างการอยู่บริเวณที่ปกปิด รอยเย็บแผลที่ศีรษะใต้ผ้าคลุมผม รอยฟกช้ำดำเขียวต่างๆ ซึ่งไม่สามารถเปิดให้ “บาบอ” ดูได้ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครจะเขียนรายงานหรือถ่ายภาพ (ที่เหมาะสม) เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานให้กับฝ่ายไกล่เกลี่ยของคณะกรรมการอิสลามประกอบคำตัดสิน


“มีกรณีที่สามีถ่ายภาพโป๊เพื่อแบล็กเมล์ภรรยาซึ่งผู้มาร้องเรียนไม่สามารถเปิดภาพให้กับบาบอดูได้ แต่เขาสามารถเปิดให้เราดูได้ เราก็จะเขียนเป็นรายงานเพื่อเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงให้กับฝ่ายไกล่เกลี่ยของคณะกรรมการอิสลามได้”

ในกรณีที่ผู้หญิงมาขอคำปรึกษาเรื่องถูกสามีทำร้ายและตามรังควาญจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ที่บ้านของเธอไม่ใช่ที่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว ทางศูนย์จะประสานกับบ้านเด็กหญิงนราธิวาสเพื่อให้ที่พักพิงซึ่งเป็นการนำเรื่องส่งต่อทีมสหวิชาชีพของหน่วยงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือเยียวยาและการคุ้มครองทางกฎหมาย ทั้งนี้ด้วยทางศูนย์ได้มีข้อตกลงกับหน่วยงานมาก่อนแล้ว ซึ่งวันอาอีดาบอกว่าถ้าไม่มีศูนย์นี้ก็คงทำไม่ได้เพราะทางสำนักงานคณะกรรมการอิสลามไม่ได้ดำเนินการประสานงานเรื่องนี้ไว้

กรณีการทำร้ายร่างกายหรือความรุนแรงที่ผู้หญิงถูกกระทำที่มาขอคำปรึกษาก็เพื่อฟ้องหย่าซึ่งนอกจากเรื่องการทำร้ายร่างกายแล้วยังมีกรณีที่สามีไม่ให้การเลี้ยงดู (นัฟเกาะห์) หรือกรณีสามีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อสามีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด (ผู้เสพ) ก็มักจะพ่วงกับเหตุทำร้ายร่างกายและไม่ให้ค่าเลี้ยงดูด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่ศูนย์ให้ความสำคัญคือ การให้ความรู้เรื่องกฎหมายที่จะเป็นที่พึ่งของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงทั้งการตีความกฎหมายอิสลามและกฎหมายสิทธิมนุษยชน วันอาอีดาเล่าว่า มีกรณีที่แม่ได้ยินลูกสาวกรีดร้องเพื่อขอความช่วยเหลือจากการถูกสามีตบตีทำร้าย แต่ไม่สามารถช่วยได้เพราะคิดว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว เรื่องของสามีกับภรรยา หรือภรรยาบางคนที่ถูกสามีทำร้ายมาตลอด 30 ปี แต่ต้องทนอยู่เพื่อลูกเมื่อลูกโตหมดภาระเลี้ยงดูแล้วจึงคิดมาปรึกษา

“อย่ารีรอ เมื่อมีปัญหาครอบครัว” เป็นม็อตโต้ของศูนย์และยังบอกอีกว่า “มีปัญหา อย่ารอจนอยากเลิก เข้ามาพูดคุยกันก่อน” ซึ่งวันอาอีดา กล่าวว่าภารกิจของศูนย์คือการให้คำปรึกษาเป็นหลัก และหลายๆ กรณีสามารถแก้ปัญหาและสิ้นสุดด้วยการให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังบอกว่าช่วงหลังมานี้มีผู้ชายที่เข้ามาขอคำปรึกษามากขึ้น เช่นกรณีที่ภรรยาไม่ยอมกลับบ้าน

แม้ว่าสถานะของศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีที่นี่ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างองค์กรของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และงบประมาณการดำเนินการทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากองค์การอ็อกซแฟมในประเทศไทย แต่แรงกระเพื่อมของพลังสตรีได้แผ่กระจายไปแล้ว ดังจะเห็นว่า ที่มีการเปิดบริการคล้ายกันเกิดขึ้นตามมา สนง.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาได้เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี และที่จังหวัดปัตตานีจะเปิดตามมา

หากท่านพบเด็ก สตรี ถูกทำร้ายร่างการ ละเมิดทางเพศ ละเมิดสิทธิ สามารถแจ้งหรือขอคำปรึกษาได้ฟรี โทร. 086-4886137

(Visited 131 times, 1 visits today)
Close