Written by 8:28 am Activities

อ.บางนรา” ผู้จุดตะเกียงไล่ความมืด

บนเวทีเสวนา “รำลึก 12 ปี อ.บางนรา ในความทรงจำ” เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา นายวันมูฮำหมัดนอร์ มะทา หรือที่มักเรียกกันว่าอาจารย์วันนอร์กล่าวถึงอับดุลเลาะห์ ลออแมน เจ้าของนามปากกา “อ.บสงนรา” ว่าเป็นบุคคลที่มีความกล้าหาญเป็นอย่างมากที่กล้าเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี เพราะในช่วงเวลานั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคมืดที่การพูดความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานีเป็นเรื่องใกล้คุกใกล้ตารางเป็นอย่างยิ่ง (หนังสือ “ปัตตานี อดีต-ปัจจุบัน” ตีพิมพ์ปี 2519)

หลายคนบนเวทีกล่าวถึงอับดุลเลาะห์ ลออแมน ในทำนองเดียวกันว่าเขาเป็นคนที่มีความใฝ่รู้อย่างแรงกล้า โดยเฉพาะในการแสวงหาความรู้ทางประวัติศาสตร์และความเคลื่อนไหวของโลกมุสลิม
.พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดมเปิดเผยว่าเขารู้จักอับดุลเลาะห์ในปี 2530 และได้ร่วมงานกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งอับดุลเลาะห์เสียชีวิตในปี 2550 พล.ต.ต.จำรูญเล่าถึงว่าอับดุลเลาะห์เคยพูดเสมอว่า ถ้าอยากรู้ประวัติศาสตร์ ก็ต้องเดินทาง อย่าอยู่กับที่ อันเป็นเหตุให้เขาต้องเดินทางไปกับอับดุลเลาะห์เพื่อสืบค้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ปาตานีในที่ต่างๆ ทั้งที่เปอร์ลิส เคดาห์ ตรังกานู และอีกหลายที่เพื่อสืบค้นความเป็นมาของประวัติศาสตร์ลังกาสุกะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบค้นเกี่ยวกับศิลาจารึกมลายูทุกที่ที่ปรากฏอยู่ และผลงานการสืบค้นของอับดุลเลาะห์ ลออแมน สามารถหาอ่านได้ในวารสารวัฒนธรรมรายไตรมาสที่ได้ทำในช่วงปี 2540-2541

นอกจากความสนใจในด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้ว อับดุลเลาะห์ ลออแมน เป็นคนที่แปล และเขียนหนังสือได้ดีมาก มูฮำมัดอายุบ ปาทาน เล่าว่าในช่วงยุคสมัยนั้นมีวารสารภาษาไทยของแวดวงมุสลิมไทยที่สำคัญ คือ อัล-ญีฮาด ซึ่งเป็นสื่อที่มีบทความ ข้อเขียนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวของมุสลิมไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกลาง แอฟริกา ในยุโรปหรือขบวนการเคลื่อนไหวในเอเชียล้วนแล้วแต่มีอับดุลเลาะห์ ลออแมน เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตเนื้อหา สร้างคอนเทนต์ที่ทำให้มุสลิมไทยได้รู้จักขบวนการอิสลามไม่ว่าจะเป็นขบวนการอิควานในอียิปต์ กลุ่มนักคิดนักเคลื่อนไหวต่างๆ ของขบวนการอิสลามในโลกอาหรับ หรือขบวนการมูฮำมาดียะห์ในอินโดนีเซีย

ในอีกด้านหนึ่ง ผลงานการค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปาตานีของอับดุลเลาะห์ ลออแมน ได้สร้างคุณูปการต่อแวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมืองของไทยอย่างสำคัญซึ่งเป็นมุมที่ไม่ค่อยจะมีการพูดถึง ซึ่งอาจารย์มูฮำหมัดอุมาร์ จะปะกียา เล่าว่า หลังจากตีพิมพ์หนังสือ “ปัตตานี อดีตและปัจจุบัน” ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามไปในที่สุดนั้น อาจารย์เสนีย์ มะดากะกุลได้รับการติดต่อจากบุคคลระดับเลขานุการรัฐมนตรีคนหนึ่งของประเทศมาเลเซียที่ต้องการจะแปลหนังสือเล่มนี้ และได้แปลออกมาเป็นภาษามลายูสแตนดาร์ด (Bahasa Baku) หนังสือของอัลดุลเลาะห์เล่มนี้ยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการเขียนวิทยานิพนธ์เล่มที่โด่งดังของสุรินทร์ พิศสุวรรณเรื่อง Islam and Malay Nationalism และยังปรากฎในวิทยานิพนธ์ของ W. K. Che Man หรือวันกาเดร์ เจ๊ะมันเรื่อง Muslim Saperatism: The Moros of Southern Philippines and the Malays in Southern Thailand

เมื่อกลับมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นร่วมสมัย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ จากมูลนิธิ เล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ เล่าให้ฟังว่าเมื่อครั้งที่ทำงานร่วมกับศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ในคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ มีช่วงที่ต้องการแสวงหาความเข้าใจในเรื่องความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์เพื่อนำไปใช้ในการทำงาน หลังจากกวาดตาไปรอบด้านแล้วก็พบแต่ประวัติศาสตร์ศูนย์กลาง ไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเลย ซึ่งถือว่าการแสวงหาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นยากชนิด “ตะกายฝาบ้าน” แต่เมื่อได้รู้จัก “อ.บางนรา” ผู้เป็นตำนาน เขาผู้นี้ได้เป็นคนจูงมือไปทำความรู้จักกับอีกหลายคนไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม อุดม ปัตนวงศ์ อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ อาจารย์สุเทพ สุนทรเภสัช กระทั่งไปสืบค้นความเป็นมาของปาตานีที่มัสยิดบ้านแขกเลยทีเดียว

ความเป็นตำนานของอับดุลเลาะห์ ลออแมน พรั่งพรูจากเวทีรำลึก 12 ปี อ.บางนรา ในความทรงจำ เมื่อหลายคนพูดกันว่าเขาเป็นคนพูดน้อย แต่สิ่งที่เขาพูดคือความจริงและข้อเท็จจริงเท่านั้น เขามีบุคลิกภาพที่น่านับถือ ผลงานเขียนมีมากมายด้วยหลายนามปากกา ข้อเขียนทั้งบทความ งานแปล งานด้านประวัติศาสตร์ปาตานีของเขาห่อหุ้มด้วยจริยธรรมของศาสนาที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ ไม่มีอคติและไม่เข้าข้างตัวเอง พวกเขาบอกว่าการทำงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ งานสื่อสารความรู้กับวิถีการดำเนินชีวิตของอับดุลเลาะห์ ลออแมน เป็นสิ่งเดียวกัน

ครั้งหนึ่งหนังสือของ อ.บางนรา เคยเป็นหนังสือต้องห้าม แต่วันนี้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเริ่มมีชีวิต กล่าวกันว่าหนังสือที่เคยต้องห้ามจะยิ่งมีเสน่ห์ วันนี้งานเขียนของอับดุลเลาะห์ ลออแมน สามารถหาซื้อได้ในร้านหนังสือทั่วไป หรือสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ให้บริการทางวิชาการได้อย่างเสรี

ความมืดที่แผ่คลุมความรู้ การเข้าถึงประวัติศาสตร์ปาตานีเมื่อกว่า 40 ที่แล้วมี “อ.บางนรา” เป็นผู้จุดตะเกียงให้แสง ความเสียสละและทุ่มเทของเขาเป็นที่รับรู้และมีประจักษ์พยาน

“หยดเลือดหนึ่งของนักปราชญ์ มีคุณค่าพอๆ กับเลือดหยดหนึ่งของนักรบในสงคราม”

คำกล่าวของอาจารย์วันนอร์บนเวทีที่กล่าวถึง อ.บางนรา
(Visited 130 times, 1 visits today)
Close